Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

วันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สาระวิธีเขียนบทภาพยนตร์

ภาพยนตร์หรือที่เรียกว่าหนังของแต่ละคนจะออกมาในทิศทาง ไหน หนังศิลปะเป็นอย่างไร หนังสื่อเป็นอย่างไร และอย่างไรถึงเรียกว่าเป็นหนังอุตสาหกรรม ซึ่งทั้งสามอย่างนี้ เชื่อว่ามันมีตลาดของมัน อาจจะขายยากขายน้อยก็ขึ้นอยู่กับโอกาส จังหวะ และช่องทาง

หนังศิลปะเป็นอย่างไร? ใครๆ ก็มองว่าหนังศิลปะนั้นค่อนข้างจะดูยาก มีวิธีการเล่าเรื่อง มีไวยากรณ์ที่แตกต่างไปจากหนังในกระแสหลัก (Mainstream) ที่เราคุ้นกันตั้งแต่เด็กๆ แล้วก็มีวิธีการเล่าหลายอย่าง ขึ้นอยู่กับคนดูที่จะจับเอาไปตีความ หนังศิลปะมักมีความเป็นตัวตนสูง มีภาษาเป็นของตัวเอง อย่างสมัยก่อนก็จะมีการจัดฉายหนังประเภทนี้ตามสมาคมฝรั่งเศส หรือสถาบันเกอเธ่ ซึ่งหนังพวกนี้ก็จะมีตลาดของมัน มีทางของมัน มีคุณค่าตามแบบของมัน ยกตัวอย่างเช่น หนังเรื่อง “แสงศตวรรษ” ของคุณอภิชาติ วีระเศรษฐกุล หรือ “นางไม้” ของคุณเป็นเอก รัตนเรือง

หนังสื่อเป็นอย่างไร? คือหนังที่ตัวเจ้าของหนัง หมายถึงคนเขียนหรือผู้กำกับต้องการ "สื่อ" อะไรบางอย่างออกมา อาจจะใช้ความเป็นอาร์ตน้อยลงหน่อย ทั้งที่ตัวเขาเองก็รู้ว่าอาร์ตขั้นสูงๆ หรือขั้นที่ถือว่าเป็นมาตรฐานนั้นเป็นอย่างไร แต่ก็อาจจะต้องยอมลดราวาศอกเพื่อให้ได้ทำหนังออกมา เพื่อให้เข้าถึงคนดู เพื่อบอกข่าวสารอะไรบางอย่างแก่คนดู หรืออาจจะรณรงค์อะไรบางอย่างก็ได้ยกตัวอย่างเช่น หนังเรื่อง “14 ตุลา สงครามประชาชน” หรือ เรื่อง “final score ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์”

หนังอุตสาหกรรมเป็นอย่างไร? ที่เห็นชัดๆ จะมีอยู่ 4 แนวคือ ตลก, ผี, กะเทย, บู๊ ซึ่งล่าสุดนี้ก็เอากระเทยกับบู๊มารวมกันเป็นเรื่อง สาระแนสิบล้อ แล้วก็มีตลกอยู่ด้วย ซึ่งก็เริ่มมีการผสมผสานเข้าด้วยกัน หนังอุตสาหกรรมจะเน้นการขายอย่างเดียว นับตั้งแต่เริ่มต้นการมีไอเดีย มีคอนเซ็ปต์ ที่ดูว่ามีอะไรน่าจะขายได้บ้าง ซึ่งนายทุนก็จะชอบหนังแบบนี้ ถามว่าหนังแบบนี้มีศิลปะหรือเปล่า มันก็มีเหมือนกัน เพราะคนทำหนังทุกคนก็อยากให้หนังของตัวเองมีศิลปะ เพราะบางครั้งการที่จะสื่อสารอะไรบางอย่างถึงคนดูได้ก็ต้องใช้ศิลปะ ใช้การหลอกล่อคนดูพอสมควร

หนังของเราจะมาได้อย่างไร? ในกระบวนการหรือขั้นตอนก่อนการเขียนบทภาพยนตร์เรื่องราวต่างๆ ที่เราจะนำเสนอให้ออกมาเป็นตัวหนังสือหรือบทภาพยนตร์นั้นอาจจะเกิดมาจากการ คิดขึ้นมาเอง การดัดแปลงมาจากนวนิยายหรือเรื่องสั้น จากข่าวสาร ข้อมูลต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตประจำวัน ประสบการณ์ส่วนตัว เพื่อนฝูง สิ่งที่มากระทบใจ กระแสสังคม ความฝัน หรือดูหนังแล้วเกิดไอเดียบางอย่าง เอามาเล่าต่อโดยคิดให้เป็นเรื่อง ดูจากตัวเองก่อนว่าสนใจอะไร แล้วเอาเรื่องรอบๆ ตัวมารวมกัน จากสถานที่ประทับใจ เช่น ถนนราชดำเนินว่ามีเหตุการณ์อะไรเคยเกิดขึ้นบ้าง ไอเดียบางอย่างที่ได้มาจากการดูหนัง เช่นดูแล้วคิดว่าทำไมเขาไม่ทำ Theme นี้ เห็นตัวละคร เห็นสถานที่ ก็เอามาสร้างใหม่ หรือคิดต่อจากความคิดของคนอื่น จากที่มาของความคิดหรือที่เรียกว่าไอเดียสามารถต่อยอดต่อขาหลายๆ ไอเดียมารวมกันเข้า จนกลายเป็นรูปร่างเป็นคอนเซ็ปต์เดียวกันแล้วจึงนำมาขยายเป็นเรื่องราว

แล้วเราจะเล่าเรื่องราวได้อย่างไร? การเล่าเรื่องราวแบบ 3 องก์ ต้น-กลาง-จบ เป็นสูตรการเล่าเรื่องแบบคลาสสิก ซึ่งคนส่วนใหญ่ชินกับวิธีการเล่าแบบนี้ ไม่ว่าตำนานหรือจะเป็นพุทธประวัติ ประวัติพระเยซู ก็จะถูกนำมาเล่าด้วยโครงสร้างแบบนี้เช่นเดียวกับพวกหนังที่ถือว่าดูง่ายทั้ง หลาย ก็เล่าเรื่องด้วยสูตรนี้เช่นกัน

ในการเล่าเรื่องราวนั้นจำเป็นต้องมี Plot-Theme-Character ซึ่งถ้าทั้งสามองค์ประกอบนี้สามารถผูกกันได้แล้ว "โดน" ก็จะเห็นความเป็นเรื่องราวและสิ่งที่หนังต้องการจะสื่อได้อย่างชัดเจน แต่ถ้าผูกกันไม่ได้ก็จะมีอาการ "ตกม้าตาย" เกิดขึ้น หรือที่เรียกว่าเจอทางตัน คิดต่อไม่ได้

PLOT คืออะไร? Plot คือโครงเรื่อง ถ้าเป็นแบบคลาสสิกจะอธิบายว่า Plot คือเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่เรียงร้อยเข้าด้วยกันอย่างเป็นเหตุเป็นผลต่อ กัน ตามโครงสร้างของอริสโตเติลจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงคือ ช่วงต้น (Beginning) แสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้กำลังมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ช่วงกลาง (Middle) แสดงให้เห็นถึงวิธีการแก้ปัญหา ช่วงท้าย หรือตอนจบ (End) แสดงให้เห็นว่าปัญหาถูกแก้ไขได้อย่างไร

THEME คืออะไร? Theme คือแก่นเรื่อง พูดถึงความคิดของเรื่องว่าต้องการจะบอกอะไร หรือสอนให้รู้ว่าอะไร เราสามารถจะไปหา Theme เก๋ๆ ได้จากพจนานุกรม, หรือพวกคำคมทั้งหลาย ซึ่งบางทีก็จะได้ไอเดียแปลกๆ เยอะ

CHARACTER คืออะไร? Character ก็คือตัวละคร ถ้าคิดให้ "โครงเรื่อง" นำเรื่องราว ก็จะเรียกว่า Plot Driven ซึ่งสิ่งที่จะโดดเด่นมากก็คือ เหตุการณ์ต่างๆ ที่ผูกไว้ในเรื่อง ตัวละครอาจจะยังไม่ชัด ถ้าคิดให้ "Theme" นำเรื่องราว ก็จะเรียกว่า Theme Driven สิ่งที่มาโดดเด่นมาก่อนเลยคือ ประเด็นต่างๆ อย่างเช่นเราตั้งประเด็นที่จะพูดถึงเรื่อง "ความกตัญญู" พูดถึง "ความกตัญญูรู้คุณเป็นบ่อเกิดของความเจริญ" ก็คือให้ประเด็นนำ แล้วคิดอย่างอื่นขึ้นมาสนับสนุน ถ้าคิดให้ ตัวละครนำเรื่องราว ก็จะเรียกว่า Character Driven ในบางกรณีโครงเรื่องหรือประเด็นอาจจะยังไม่ชัด แต่ถ้าเราเห็นว่ามีตัวละครตัวหนึ่งน่าสนใจ ก็จัดการจับตัวละครตัวนี้ลงไปในสถานการณ์ใดๆ ก็ได้ แล้วปล่อยให้ตัวละครมีชีวิตขึ้นมาตามที่ใจเราอยากจะให้เป็นไป หรือรู้สึกว่ามันควรจะแสดงออกมา

สรุปคือ จะคิดอะไรก่อนก็ได้ ถ้าคิดถึงคนก่อน ให้คนๆ นี้เริ่มต้นผจญภัยเรื่อยไป แต่ว่ามันต้องชัดเจน ไม่ใช่ว่าพอเดินๆ เรื่องไปแล้วนิสัยหรือบุคลิกมีอาการแกว่งไปแกว่งมา เพราะมันจะทำให้เราคุมตัวละครไม่ได้

ตัวอย่างที่คลาสสิกที่สุดอันหนึ่งคือเรื่อง กระต่ายกับเต่า Theme ของเรื่องนี้คือ ความประมาท หรือ โง่แล้วอวดฉลาด หรือความพยายาม Character คือ กระต่าย กับ เต่า Plot คือ การวิ่งแข่งกัน แล้วทั้งสามอย่างจะมาผูกกันได้อย่างไร สมมติว่าเราเป็นพวก Character Driven เราฝังใจว่าตัวละคร เต่า เป็นตัวที่น่าจะโฟกัสกับมัน เพราะมันมีอะไรให้เล่นเยอะ เพราะฉะนั้นก็มาคิดต่อว่าแล้ว Theme ไหนที่เหมาะกับตัวละคร เต่า มากที่สุด ก็น่าจะได้ว่าเป็น "ความพยายาม" เพราะเต่าเป็นตัวละครโฟกัส คนดูเรื่องนี้เพราะตามติดตัวละคร เต่า แล้วสิ่งที่เต่าพยายามทำในแต่ละฉากมันเป็นที่มาของคำว่า "ความพยายาม" แต่เมื่อใดก็ตามที่เลือกเล่น Theme "ความประมาท" ก็ต้องเลือกตัวละครโฟกัสไปที่ กระต่าย เพราะกระต่ายจะเป็นตัวละครที่พิสูจน์ Theme นี้ ซึ่ง Plot ที่จะเกิดขึ้นมา โดยอัตราส่วนแล้วเราจะเห็นมุมของ กระต่ายมากกว่าเต่า โดยเราอาจจะเลือกพูดถึงประเด็นว่า "ความประมาทเป็นหนทางแห่งหายนะ" ตัวละครทั้งกระต่ายกับเต่าก็จะต้องร่วมฉากเดียวกันไปตลอดทั้งเรื่อง อาจกลายเป็นเหมือนหนังบัดดี้ (buddy) เลยก็ได้ เพราะกระต่ายเป็นตัวที่พูดถึง "ความประมาท" ส่วนเต่าจะเป็นตัวที่พูดถึง "ความพยายาม" ถ้าเราเลือกเล่น Theme "โง่แล้วอวดฉลาด" เราอาจจะให้กระต่ายโง่ หรือเต่าโง่ก็ได้ หรืออาจจะให้ตัวใดตัวหนึ่งตายในตอนจบก็ได้ เป็นไปได้ทั้งนั้น เพราะเราไม่จำเป็นต้องทำตามประเพณีโบราณว่าเต่าต้องชนะเสมอไป เพราะดูจากสังขารแล้วก็เห็นชัดๆ ว่ากระต่ายกับเต่า ตัวไหนมันน่าจะชนะกว่า ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเราว่าจะเลือกเข้าข้างตัวใด Theme ที่ได้อาจจะเป็น Theme ใหม่ กำหนดลักษณะตัวละครขึ้นมาใหม่ได้เสมอ แล้วแต่เราจะคิดสร้างสรรค์ออกมา ถ้าเราทำทุกอย่างให้มันเข้าที่เข้าทางแล้ว สิ่งที่ตัวละครทำมาตลอดทาง และเรื่องหรือ Theme ที่จะเกิดขึ้น เราเรียกมันว่า Plot อย่างเรื่อง กระต่ายกับเต่า โดยรวมๆ แล้วจะพูดถึงการวิ่งแข่งของตัวละครสองตัว มี Theme ของเรื่องคือ "ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น" แล้วเราต้องการเล่าเรื่องเพื่อพิสูจน์ Theme นี้ โดยเลือกตัวละครหลักคือ เต่า

ตอนต้นเรื่องจะเริ่มต้นด้วย เต่าตัวหนึ่งท่าทางช้าๆ เชื่องๆ อยู่มาวันหนึ่งเจอกระต่าย แล้วโดนพูดจาปรามาสต่างๆ นานา องก์หนึ่งจบลงตรงที่ ทั้งสองตกลงใจที่จะวิ่งแข่งกัน พอถึงองก์สองก็จะว่าด้วยเรื่องของการวิ่งแข่งกัน เต่าจะพบกับอุปสรรคนานา พร้อมด้วยพันธมิตรและศัตรูทั้งหลาย องก์นี้จะจบลงด้วยการที่เต่าจะถูกผลักดันให้เจอกับทางตัน แทบจะแพ้ไปเลย แล้วพอเริ่มองก์สาม เต่าก็จะลุกขึ้นฮึดสู้ จนนำไปสู่ชัยชนะในตอนท้าย ซึ่งทั้งหมดต้องมีความเป็นเหตุเป็นผลของ Theme เช่นถ้าคิดว่าเรื่องของเรามี Theme ที่เกี่ยวข้องกับ "ความพยายาม" จะต้องมีความเป็นตรรกะอยู่ในประโยค ก็จะกลายเป็น "ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น" หรือหากพูดถึง Theme "ความประมาท" ก็จะเป็น "ความประมาทเป็นหนทางสู่ความตาย/หายนะ" ความเป็นเหตุเป็นผลหรือหลักฐานจะทำให้เราเห็นแอ็คชั่น เห็นการกระทำของตัวละคร

เริ่มต้นการเขียนบทอย่างไร? ในการเขียนบทหนัง ไม่ต้องบรรยายละเอียดจนเหมือนนิยาย เพราะบางอย่างก็กั๊กๆ ไว้ได้ คนอื่นหรือผู้กำกับมาอ่าน เขาจะเหมือนคนดู คือเม้มเอาไว้ได้ อย่างเช่นประโยค “คิดไปถึงอดีตอันขมขื่น” ก็ไม่จำเป็นต้องเขียนก็ได้ เพราะมันจะเหมือนนิยาย บทหนังก็แค่บันทึกอันหนึ่ง หรือเหมือนใบสั่งที่ทีมงานทุกคนอ่านแล้วเอาไปทำต่อ ผู้กำกับอ่านแล้วก็เข้าใจได้เองว่าตัวละครคิดอะไรอยู่ ไม่ต้องบอกหมด บทหนังจะใช้บทสนทนาน้อย หรือถ้าไม่ใช้เลยก็จะดี แล้วลักษณะของบทหนังจะเป็นบทพูดสั้นๆ เหมือนโทรเลข บทหนังจะมีอยู่ 2 อย่างคือ บทแสดง (Screenplay) ไม่ต้องเขียนมุมกล้อง แต่มันจะต้องเห็นภาพคือคนเขียนจะต้องช่วยนิดหนึ่งว่าจะเปิดภาพด้วยอะไรก่อน เขียนบรรยายเพื่อให้แตกเป็นภาพได้ง่าย และบทก่อนถ่าย (Shooting Script) คือบทที่มีการบอกมุมกล้อง ทำงานกับผู้กำกับบนโต๊ะอย่างละเอียด

การคิด Theme ต้องคิด Theme ให้ชัดเจนก่อน เพื่อจะได้รู้ว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เรากำหนดขึ้นมามันรับใช้กับ Theme ที่เราคิดหรือไม่ เพราะ Theme จะทำหน้าที่เป็นกระดูกสันหลังของเรื่อง เมื่อคิดได้ มันจะทำให้เราเห็น ‘เส้นเรื่อง’ ทันที เช่นประโยคที่ว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” หรือ “การนึกถึงแต่ตัวเอง โดยมองข้ามความเป็นมนุษย์ของคนอื่น นำพาชีวิตไปสู่ความโดดเดี่ยว” เมื่อเห็นเส้นเรื่องแล้ว ก็ต้องสร้าง Plot และตัวละครเพื่อมาสอดคล้องหรือเกาะกับ Theme ที่คิดให้ได้ แต่ต้องถามตัวเองต่อด้วยว่า “ได้อย่างไร” ต้องเขียนให้เป็นนามธรรมมากที่สุด คือมองให้เป็นฉากแอ็คชั่น เห็นพฤติกรรม การกระทำ อย่าให้เป็นแค่รูปธรรม

การเขียนโครงเรื่อง (Plot) เล่าแค่ว่าตัวละครเป็นใคร ได้เจอกับเหตุการณ์อะไร แล้วไปพบกับอะไร จนเกิดการประจักษ์ในท้ายที่สุด เล่าแค่สั้นๆ ยังไม่ต้องไปให้รายละเอียดมากนัก เช่น เรื่องราวของหญิงสาวสวยผู้ไม่เคยเห็นใครในสายตา เธอทำกระเป๋าเงินหาย เป็นเหตุให้เธอต้องขึ้นรถเมล์เป็นครั้งแรกในชีวิต ระหว่างทางเธอประสบกับวิถีชีวิตผู้คนรอบข้าง ซึ่งเธอไม่เคยพบเห็นมาก่อน แต่ถึงกระนั้นเธอก็ยังคงมองข้ามคนอื่นอยู่เสมอ จนกระทั่ง ....... (หาเหตุการณ์ที่ทำให้ตัวละครได้เรียนรู้หรือประจักษ์กับอะไรบางอย่างใน ชีวิต) เธอถึงได้รู้ว่า ....... (จะเป็นประโยคของ Theme “การนึกถึงแต่ตัวเอง โดยมองข้ามความเป็นมนุษย์ของคนอื่น นำพาชีวิตไปสู่ความโดดเดี่ยว” ก็ได้)

การเขียนเรื่องย่อ (Synopsis) คือการขยายโครงเรื่องให้เป็นเรื่องราว อยู่ในรูปความเรียง ความยาวก็มีตั้งแต่ 2-5 หน้า ตัวอย่างเรื่องย่อก็เช่นพวกเรื่องย่อละครทีวี

การเขียนเรื่องย่อหรือ (Treatment) โครงเรื่องขยาย คือ การแสดงรายละเอียดของเรื่องราวที่มันดำเนินไปข้างหน้า เล่าตามสิ่งที่จะปรากฏในหนัง เน้นที่สถานการณ์จากสถานการณ์หนึ่งไปอีกสถานการณ์หนึ่ง พยายามหาวิธีว่าจะเล่าออกมาเป็นหนังได้อย่างไร จะต้องเล่าด้วยการแสดง (show) ออกมาให้เห็น แต่เมื่อถึงตอนที่เราเอามาแตกเป็นฉากๆ หรือที่เรียกว่า Scenario คือการลำดับฉาก เหตุการณ์และบรรยายว่าฉากนั้นเกิดอะไรขึ้น อาจจะมี keyword หรือบทสนทนาลงไว้ด้วย ตัวอย่างเช่น “ผู้ร้ายปล้นธนาคารแล้วฉกกระเป๋าเงินนางเอกที่อยู่ในธนาคารนั้นไปได้” ถือว่าเป็นสถานการณ์ ส่วนเหตุการณ์ก็จะมีตั้งแต่ช่วงก่อนปล้น ไปจนถึงขณะทำการปล้น และหลังปล้น ซึ่งในหนึ่งสถานการณ์จะประกอบไปด้วยหลายเหตุการณ์เสมอ ต้องเล่าเหตุการณ์ต่างๆออกมาให้ง่ายๆ แต่กินใจ ต้องหาสถานการณ์ที่เอื้อต่อพฤติกรรมของตัวละครการเขียนสถานการณ์ให้เขียน แบ่งเป็นข้อๆ แต่ละข้อคือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวละคร เช่น “คำหล้าเจอกับเหตุการณ์อะไร แล้วนำไปสู่ผลอะไร” ไปจนกระทั่งจบเรื่อง จนเห็นเป็นสถานการณ์ที่แน่ชัด แล้วจึงค่อยลงมือเขียน

รายการบล็อกของฉัน

ค้นหาบล็อกนี้